12. ให้ช่างเซ็นรับเงินค่างวดในสัญญาของท่านให้ชัดเจน หรือจะถ่ายสำเนาเช็คแล้วให้ช่างเซ็นรับไว้เป็นหลักฐานแนบท้ายสัญญาทุกครั้ง เพราะเรื่องเงินเรื่องทองนี่มันของบาดใจครับ โดยมาก ไม่ว่าจะช่างเล็กหรือช่างใหญ่ ก็มักจะเลินเล่อเรื่องเงินเรื่องทองนี่เหมือนกัน พอมีหลายงวดเข้า บางครั้งก็ลืม ไม่รู้ว่าเก็บงวดไหน และยังไม่ได้เก็บงวดไหน ไปๆ มาๆ วุ่นวายกันไปหมด ดังนั้น ให้ทุกอย่างมาจบลงที่หลักฐานการชำระเงินที่ชัดเจน จะช่วยได้มากเลยทีเดียวครับ
13. จ่ายเงินให้ตรง ท่านอาจจะว่า เอ๊ะ! นี่มันเป็นสิทธิ์ของผม ซึ่งมันก็ถูกอยู่ครับ แต่ช่างทุกคนที่มาทำงาน ก็เพราะอยากได้เงิน และช่างส่วนใหญ่ก็อยู่ในวิสัย หาเช้า กินค่ำ ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น หากท่านต้องการให้ช่างทำงานให้ท่านอย่างราบรื่น ท่านก็ต้องพร้อมที่จะชำระเงินตามงวดที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อช่างทำงานถึงแล้วเช่นกันครับ แต่หากท่านคิดว่า ดึงอีกนิดน่า สำหรับงวดแรกๆ อาจจะได้ แต่พองวดหลังๆ ช่างได้เงินคุ้มกับค่าแรงเมื่อไร ก็เตรียมตัวอพยพหนีกลางดึกแล้วล่ะครับ คราวนี้ ก็จะเดือดร้อนตัวท่านเองนั่นแหละที่ต้องหาช่างชุดใหม่ หากอยากได้ช่างดีๆ และอยู่กับเราจนครบ ก็คงต้องรักษาสัญญากันทั้งสองฝ่าย รับรองว่าช่างก็เป็นคน ไม่ใช่โจรผู้ร้ายที่ไหน (นับเฉพาะช่างดีๆ มีมาตรฐานนะครับ ไม่รวมช่างมั่วๆ ที่เพิ่งทำงาน) หากได้นายจ้างดีๆ ก็มีแต่จะอยู่จนครบสัญญา แต่ถ้าได้นายจ้างดึงๆ ก็รับรอง ได้เงินคุ้มเมื่อไร ก็ไปเมื่อนั้น เข้าทำนอง นกยังรู้จักเลือกต้นไม้เพื่อเกาะพักพิง ไงล่ะครับ
14. อย่าลืมหักภาษี ณ ที่จ่ายนะครับ ภาษีทุกบาท ช่วยชาติพัฒนา ช่างรับเหมาจะโดนหักค่าแรง 3% ส่วนในกรณีที่รับเหมาทั้งของทั้งแรง จะโดนหัก 3% ของยอดทั้งหมด เว้นแต่จะแยกค่าของกับค่าแรง ซึ่งช่างจะโดนหักภาษีแค่ค่าแรงเท่านั้น ทำให้มียอดแค่ไม่มากนัก แต่ทั้งหมดนี้จะดีกับช่างในตอนปลายปี เพราะช่างรับเหมาทุกคนสามารถคิดหักค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของการทำงานได้ถึง 80% ของรายได้ แล้วค่อยนำเอาเงินส่วนที่เหลือไปคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอาจจะเรียกคืนเงินภาษีนี้ได้ หากมีรายรับไม่ถึงเกณฑ์
ส่วนการหักภาษี ณ ที่จ่ายนี้ หากท่านที่ยังไม่เคย ก็ให้ไปซื้อแบบฟอร์มการหักภาษี ณ ที่จ่ายในร้านขายเครื่องเขียนชั้นนำ ก็จะมีแบบฟอร์มให้กรอกเสร็จสรรพ และเมื่อหักเงินแล้วก็อย่าลืมนำส่งสรรพากรท้องถิ่นด้วยนะครับ ประเทศเราจะได้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปครับ
|